Hot Topic!
จากสนามบินจีน ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 27,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส โดย สารส้ม
ประเทศจีนเพิ่งจะเปิดสนามบินแห่งใหม่ไปหมาดๆ อยู่ทางใต้ของกรุงปักกิ่งห่างไปราว 40 กิโลเมตร นั่นคือ ท่าอากาศยานนานาชาติเป่ยจิง ต้าซิง หรือ สนามบินต้าซิง
ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง กล่าวชื่นชมสนามบินแห่งใหม่ระหว่างพิธีเปิดว่า “สนามบินแห่งนี้ จะเป็นแหล่งทรงพลังแห่งใหม่ของการพัฒนาประเทศ”
1. สนามบินต้าซิง มีขนาดพื้นที่ 700,000 ตารางเมตร ใช้เวลาก่อสร้างไม่ถึง 5 ปี
งบประมาณ 120,000 ล้านหยวน (514,334 ล้านบาท)
แต่ถ้ารวมการก่อสร้างทางรถไฟและถนนเชื่อมต่อสู่ตัวเมือง โครงการทั้งหมดจะมีมูลค่า 400,000 ล้านหยวน (1,714,450 ล้านบาท) โดยใต้ตัวอาคารสนามบินมีสถานีรถไฟบนดินและใต้ดิน เชื่อมต่อเข้าสู่กรุงปักกิ่ง
กลุ่มตัวอาคารสนามบินต้าซิง ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษเชื้อสายอิรัก ซาฮา ฮาดิด
เฟสแรก มี 4 รันเวย์ ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะรองรับผู้โดยสาร 72 ล้านคนต่อปี
และจะขยายเป็น 8 รันเวย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารปีละประมาณ 100 ล้านคนภายในปี 2580
แน่นอนว่า การดำเนินการหลังจากนี้ ก็จะเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินที่มีการวางแผนไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่มีการแตกแถว (หรือตัดแปะตามอำเภอใจของผู้บริหารสนามบิน) เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศจีน ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ทำให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินการ และเกิดประสิทธิผลที่จับต้องได้
2. ย้อนกลับมาดูสนามบินสุวรรณภูมิบ้านเรา
ปัญหาความพยายามที่จะผลักดันก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่อยู่นอกแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ยังคงไม่ลดละ ทั้งๆ ที่ ถูกคัดค้านอย่างชัดเจนด้วยเหตุผลชัดแจ้ง จากสภาพัฒน์ และภาคีเครือข่ายสภาวิชาชีพหลายสถาบัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรจะตระหนักในประเด็นเหล่านี้และไม่ควรยอมให้ ทอท.ผลักดันโครงการอาคารผู้โดยสารตัดแปะนั้นอีกต่อไป เพราะเสียเวลาการเดินหน้าพัฒนาตามแผนแม่บทมามากเกินไปแล้ว
ควรแสดงความเด็ดขาดของภาวะผู้นำได้แล้ว อย่ายอมหงอต่อกลุ่มผลประโยชน์
3. ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนาม 12 องค์กรวิชาชีพ ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สำเนาเรียนนายกรัฐมนตรี) เพื่อให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามในประเด็นที่องค์กรทางด้านวิชาชีพต่างตั้งข้อสงสัยในเรื่องการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ผิดแผนแม่บท ปี พ.ศ. 2546
ชี้ประเด็นสำคัญ คือ การคำนวณเพื่อเอาตัวเลขมาเคลมว่า อาคารผู้โดยสารตัดแปะแบบที่พยายามผลักดันนั้น รองรับผู้โดยสารได้เท่านั้นเท่านี้ อยู่บนฐานการคำนวณอย่างไร ข้อมูลรองรับเป็นอย่างไร หาก ทอท.ตอบไม่ได้ ข้อมูลไม่สอดคล้อง ก็จะเห็นกันจะจะว่า ใครมั่วตัวเลข ใครดำน้ำ
หนังสือนี้ ยังได้แนบแถลงการณ์ เรื่อง “หยุดแผน ทอท. ป่วนสุวรรณภูมิ” ไปด้วย
สาระสำคัญในแถลงการณ์นี้เอง ที่มีเนื้อหาสาระทำให้เข้าใจประเด็นปัญหาได้อย่างชัดเจน เช่น
“ตามที่ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (พ.ศ. 2553) อนุมัติให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยออกแบบก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการขยายสนามบินเพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ทอท. ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่กลับเบี่ยงเบนโดยมีข้อเสนอให้ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งใหม่ปลาย Concourse A นอกพิกัดแผนแม่บทฯ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ...
2. ความเสียหายของชาติที่เกิดจากการไม่ดำเนินการตามแผน
2.1 ความแออัดที่เพิ่มขึ้น (Congestion)
2.2 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (Cost Increase)
จากความล่าช้าในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรณภูมิตามมติ ครม. ที่ ทอท. เสนอเป็นต้นเรื่อง ทำให้สนามบินเกิดความแออัด ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นได้ในขณะนี้ และทำให้งบประมาณในการขยายสนามบินเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกทั้งความพยายามเบี่ยงเบนเพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งใหม่ปลายConcourse A นอกพิกัดแผนแม่บทฯ ที่ ทอท. พยายามจะเสนอรัฐบาลนั้น ใช้งบประมาณที่สูงถึง 42,000 ล้านบาท เพราะพื้นที่อาคารมีขนาดใหญ่และเน้นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ประโยชน์ใช้สอยหลักของอาคารจะไม่เกิดประโยชน์ต่อกิจการด้านการเดินทางของผู้โดยสาร การบริหารจัดการจะมีความยุ่งยากเพราะต้องใช้ระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับ(APM) ถึง 3 สาย นอกจากนี้ เมื่อพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเต็มศักยภาพแล้วจะทำให้เกิดความแออัดของการจราจรในพื้นที่ของถนนมอเตอร์เวย์ด้านทิศเหนือของสนามบิน
3. ทอท. เบี่ยงเบนให้ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งใหม่ปลาย Concourse A นอกพิกัดแผนแม่บทฯ เป็นการเบี่ยงเบนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
3.1 ข้อเท็จจริง
3.1.1 ผลกระทบพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) ส่งผลกระทบให้ผู้ที่จะเดินทางมายังอาคารผู้โดยสาร ต้องใช้ถนนมอเตอร์เวย์ ทำให้การจราจรติดขัดไม่เกิดการกระจายตัวที่ดี
3.1.2 ผลกระทบพื้นที่ในเขตการบิน (Airside) พื้นที่หลังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามข้อเสนอของทอท. คับแคบ ทำให้เครื่องบินวิ่งเข้า-ออกหลุมจอดอย่างยากลำบากและสิ้นเปลืองพลังงานเพราะเนื่องจากอาคารฯอยู่ไกลจากทางวิ่ง (Runway 1st - 3rd)
3.1.3 การบริหารจัดการ (Operation) อาคารผู้โดยสารใหม่ตามแบบทอท.นั้น เปลี่ยนจากหลุมจอดระยะไกล (Remote Gate) 14 หลุม เป็นหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) 14 หลุม ซึ่งไม่สามารถทำหลุมจอดเพิ่มเติมได้ทำให้อาคารไม่สามารถรองรับผู้โดยสารตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ เกิดความยุ่งยากในการเดินทางของผู้โดยสารเพราะเนื่องจากการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามที่ทอท.เสนอนั้นจะต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ถึง 3 สาย เพิ่มความสับสนต่อการเดินทางอีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ทั้งนี้หากทอท.ดำเนินการตามแผนแม่บท ปี 2546 นั้นจะใช้ APM เพียงสายเดียวเท่านั้น
มีข้อเท็จจริงว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการวางผังแม่บทครั้งแรกในปีพ.ศ 2536 ประกอบด้วย รันเวย์ 4 เส้น, อาคารผู้โดยสารหลัก 2 อาคาร (ด้านทิศเหนือและทิศใต้), อาคารเทียบเครื่องบินรอง 2 อาคาร (Satellite Buildings), อาคารจอดรถ 8 หลัง, รถไฟฟ้ไร้คนขับ (APM) 2 สาย ที่ใช้เชื่อมระหว่างอาคารเทียบเครื่องบินรองกับอาคารผู้โดยสารหลักทั้ง 2 อาคาร ซึ่งขณะนั้นสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการปรับปรุงแผนแม่บทโดยปรับรูปแบบของอาคารเทียบเครื่องบินรอง 2 อาคาร (Satellite Buildings) จากกากบาทเป็นเส้นตรงและปรับระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับเหลือ 1 สาย อีกทั้งปรับปรุงแบบอาคารผู้โดยสารหลักให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี ซึ่งจวบจนปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นยังคงพัฒนาตามแผนแม่บทปี พ.ศ. 2546 มาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณออกแบบก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลัก (Ter-1) ด้านทิศตะวันออกวงเงิน 6,780 ล้านบาทซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปัจจุบันจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า60 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท. ได้ดำเนินการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ยอมดำเนินการก่อสร้าง กลับขอเสนอให้สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งใหม่ปลาย Concourse A โดยอ้างเหตุผลว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายนั้นจะมีความยุ่งยากในด้านเทคนิคและดำเนินการได้ยาก ซึ่งองค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมได้ให้ความเห็นว่าเป็นการเบี่ยงเบนและแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นการส่อทุจริต และปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณขึ้นจาก 38,000 ล้านบาท เป็น 42,000 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนาม 12 องค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เห็นควรเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาสั่งการให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดให้ ทอท.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2553 และแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเดิม ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้ บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) แสดงความรับผิดชอบที่ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติต่อไป”